top of page
  • Writer's pictureManushya Foundation

ท่าทีของนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้รัฐบาล’เศรษฐา ทวีสิน’ 🌱🪵


📢 อ้างอิงจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีจากรัฐบาลของนาย’เศรษฐา ทวีสิน’ ที่จะมีการเตรียมการแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้ สรุปได้ว่านโยบายนี้ไม่น่าจะใช่นโยบายการบริหารปกครองของรัฐบาลที่ต้องมีการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน แต่น่าจะเป็นนโยบายการแข่งขันทางการค้าที่เอาปัจจัยด้านนิเวศ ทรัพยากร การศึกษา สาธารณสุข สังคม วัฒนธรรม สวัสดิการ การต่างประเทศ ความมั่นคง และอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมาสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าเป็นหลัก และสะท้อนอัตลักษณ์ของรัฐบาลชุดนี้ว่า มุ่งเป็นรัฐบาลพ่อค้า นักลงทุน เป็นหลัก


รัฐบาลชุดนี้ได้มีการแถลงนโยบายโดยระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายด้าน รวมถึงผลกระทบจากโควิดต่อเศรษฐกิจ, สังคมสูงวัย, ปัญหาหนี้สิน, ความเหลื่อมล้ำ, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความมั่นคงระดับโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้มองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลชุดนี้มุ่งหวังจะไม่เพียงแค่จัดระเบียบและสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง แต่ยังมุ่งหวังจะกระโจนเข้าสู่ทุนนิยมเสรีให้เต็มที่ ผ่านการนำเสนอโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับการลงทุนขนาดใหญ่ ฟื้นคืนอุตสาหกรรมประมง และระเบียงเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการค้าเสรีในระดับสากล.



🚫 ⁉️

ไม่มีคำถามใดๆที่รัฐบาลเศรษฐาไม่ได้เรียกร้องหรือตอบรับ เกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจที่มีผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องการรวมศูนย์อำนาจของระบบราชการ การกระจุกตัวของทรัพยากร และการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อทรัพยากร เทคโนโลยี ตลาด และนโยบายรัฐ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังเป็นจุดสำคัญที่เราควรจะเลือกวิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นนี้ การที่รัฐไม่เข้าไปควบคุมและกำกับกลุ่มทุนด้านเกษตรและอุตสาหกรรมที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่การสร้างมลภาวะเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และไม่กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรพร้อมคุ้มครองและส่งเสริมให้ชุมชนในฐานทรัพยากรมีสิทธิจัดการทรัพยากรให้เข้มแข็ง โดยที่ผ่านมาที่รัฐบาลประยุทธ์ปัดตกไม่ยอมนำมาเป็นนโยบายหลักเนื่องจากไม่คำนึงถึงข้อเสนอนโยบายที่ประชาชนเสนอ เช่น ร่าง พรบ.อากาศสะอาด และ ร่างพรบ.ปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษที่อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ในระดับรัฐ ซึ่งนี่นำมาสู่คำถามว่า “แล้วปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะถูกแก้ปัญหาได้อย่างไร?”


🌱🪵🌱🪵

การให้เอกสารสิทธิที่ดินแก่เกษตรกรเป็นสิ่งที่ดี ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความเป็นเจ้าของที่ดินให้แก่พวกเขา แต่ยังส่งเสริมการนำที่ดินทหารมาใช้ในการเกษตร อย่างไรก็ตาม, ในกรณีที่ที่ดินส่วนใหญ่ยังคงขัดขวางและผูกขาดอยู่ในมือของกลุ่มทุนไม่กี่ราย เราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังคงเหลื่อมล้ำ และวิเคราะห์ว่าทำไมที่ดินไม่ได้รับการแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรอย่างเท่าเทียมเสมอไป ที่ดินเหล่านี้อยู่ในมือของนายทุนเนื่องจากเหตุผลหลายประการ เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้และสร้างความเป็นธรรมในการแจกจ่ายที่ดิน เราสามารถใช้เครื่องมือนโยบายภาษีที่ดินที่มีอัตราส่วนที่เหมาะสม และสร้างระบบสิทธิจัดการที่ดินร่วมของชุมชนหรือ "โฉนดชุมชน" รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายธนาคารที่ดิน และการคุ้มครองพื้นที่ทางนิเวศ เศรษฐกิจ และกฎหมายผังเมือง โดยฉลาดและมีการกระจายอำนาจที่ดินอย่างเหมาะสมและยุติธรรมให้กับเกษตรกรเพื่อให้ที่ดินไม่หลุดมือไปสู่นายทุนอย่างไม่เหมาะสมในอนาคตอันใกล้เข้ามา


🐟 🌊

ในส่วนของนิเวศท้องทะเลไทยที่พังวินาศอันเนื่องจากอุตสาหกรรมประมงที่ขูดรีดทรัพยากรจากทะเลทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิการดำรงชีวิตของชุมชนประมงที่อาศัยอยู่บนชายฝั่งทะเลไทย นอกจากนี้ นโยบายกดดันจากยุโรป (IUU) ยังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงไทย และมีผลเสียต่อสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมนี้อย่างรุนแรง เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงให้กลับมามีการบริหารจัดการทรัพยากรเหมือนเดิม รัฐบาลต้องตอบคำถามว่าจะให้ความคุ้มครองนิเวศและสิทธิของชุมชนชายฝั่งอย่างไร และจะรับมือกับมาตรการกดดันจากยุโรปโดยไม่ให้มีผลกระทบเช่นเดิมหรือไม่


🏡👨‍👩‍👧‍👦

ในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อ่อนแอคือความไม่มั่นคงด้านอาหารและการขาดระบบสวัสดิการรัฐที่คุ้มครองประชาชนให้มั่นคงและเท่าเทียม ในยุคที่ประชาชนมีรายได้น้อย, หนี้สินสูง, และเข้าสู่สังคมสูงวัย, และขาดความมั่นคงทรัพยากรในการดำรงชีวิต การสร้างความมั่นคงในด้านอาหารและสวัสดิการคุ้มครองทุกด้านของชีวิตมีความจำเป็นมากยิ่งกว่าการรับเงินดิจิทัลที่อาจหมดไปอย่างรวดเร็วและผันผวนในกระเป๋านายทุน ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนจากการเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรนิเวศ, การส่งเสริมสิทธิ์ของชุมชนในการจัดการทรัพยากรอาหารในพื้นที่, การคุ้มครองพื้นที่ความมั่นคงอาหาร, การสร้างระบบจัดการน้ำในพื้นที่ท้องถิ่นให้เข้มแข็ง, และการคุ้มครองสิทธิของแรงงานในทุกด้านของชีวิต, เช่น การทำงาน สุขภาพ และอาหาร. หากไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้, เงินประชานิยมที่รัฐจ่ายอาจจะไม่ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นเลย


🌏🌪

ปัญหาเรื่องพลังงานที่สร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน มลภาวะ และค่าพลังงานไฟฟ้าที่แพง รัฐบาลจะแก้เพียงเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงาน วางแผนบริหารความต้องการและจัดหาพลังงานที่เหมาะสม แต่ถ้ารัฐบาลไม่คิดจะเปลี่ยนโครงสร้างการผูกขาดพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่มีกลุ่มทุนผูกขาดไม่กี่ราย ผลิตพลังงานสำรองล้นเกิน พลังงานส่วนใหญ่ยังเป็นพลังงานฟอสซิลที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน หลายโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องแต่เซ็นสัญญาพร้อมจ่ายที่รัฐรับประกันกำไรให้เอกชนไว้แล้ว และหลายโรงไฟฟ้าหาใช่พลังงานสะอาดจริง สร้างมลภาวะรุนแรงต่อนิเวศและสุขภาพประชาชน


ขณะที่พลังงานหมุนเวียนเช่น แสงอาทิตย์ ลม มีราคาถูกกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว และเป็นพลังงานที่ประชาชนผลิต จัดการเองได้ หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐ แต่นโยบายรัฐบาลเขียนเรื่องนี้ไว้แผ่วเบามาก เมื่อโครงสร้างพลังงานไม่ถูกรื้อ ภาระทั้งหมดตกอยู่กับธรรมชาติและประชาชน นำมาสู่ราคาพลังงานที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น และประชาชนต้องแบกรับ หากรัฐบาลไม่รื้อโครงสร้างดังกล่าว และไม่ยอมเร่งเปลี่ยนมาสู่พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานหลัก รัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันถูกลงได้ซักกี่เดือน ยังไม่นับราคาที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมจากโรงไฟฟ้า


เชื่อมโยงมาถึงเรื่องใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน ที่รัฐบาลไม่เพียงแต่ไม่รื้อพลังงานที่ทำให้โลกยิ่งร้อนขึ้น แต่ยังส่งเสริมการระเบียงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และอื่น ๆ อีกมากมายที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลและทำลายระบบนิเวศย่อยยับ แล้วนโยบายคาร์บอนเป็นกลางจะบรรลุได้ มิหนำซ้ำยังเอาคาร์บอนเครดิตหรือการซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอน มาเป็นตัวล่อประชานิยมให้ชุมชนเป็นแรงงาน เอาทรัพยากรป่าของชุมชนมาขายสิทธิปล่อยคาร์บอนราคาถูกให้ทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่ทั้งไทยและเทศชดเชยส่งเสริมการปล่อยคาร์บอนของตนได้ต่อไป แต่จากที่รัฐบาลแถลง นโยบายคาร์บอนเป็นกลางก็มีไว้เพื่อให้เป็นผู้นำส่งเสริมการลงทุนด้วยคาร์บอนเครดิตในอาเซียน ไม่ได้มีความห่วงใยต่อสภาวะโลกร้อน


สิ่งที่สำคัญที่สุดแต่หายไปเลยจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ผลกระทบและการปรับตัวของกลุ่มคนเปราะบางที่เผชิญความปั่นป่วนทางนิเวศ ทรัพยากรเสื่อมโทรม ผลผลิต สุขภาพ เศรษฐกิจ ไม่ปรากฏเลยว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย และสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร นโยบายที่ปรากฏ เช่น การจัดการน้ำ การปรับปรุงการเกษตร ยังเป็นไปแค่การส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจ


น่าเสียดายที่ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจจัดการทรัพยากรของรัฐไม่ถูกแตะต้องเลย ปัญหาชุมชนกว่า 4,000 ชุมชนที่ถูกรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ครอบทับจะมีสิทธิจัดการทรัพยากร สร้างบริการนิเวศ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร เศรษฐกิจฐานทรัพยากรยังคงถูกรัฐทอดทิ้งต่อไป เกษตรกรกำลังจะถูกริดรอนสิทธิในการเข้าถึง จัดการพันธุกรรมพืชและความรู้ท้องถิ่นต่อทรัพยากรชีวภาพ เพราะรัฐบาลไม่คิดถึงการคุ้มครองสิทธิพวกเขาเลยในการที่มีนโยบายเจรจาการค้าเสรี.


เมื่อรัฐยังคงเน้นการสร้างเขื่อน ผันน้ำ และบริหารน้ำด้วยระบบราชการกำกับโดยไม่กระจายอำนาจการจัดการน้ำให้สู่ชุมชน ปัญหาเอลนิญโญ่จะรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากระบบนี้ไม่แตะต้องโครงสร้างการผูกขาดอำนาจทั้งราชการและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และยังเร่งเร้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศและการเข้าสู่การค้าเสรีอย่างเร่งด่วนโดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศและความเป็นธรรมทางสังคม และไม่กระจายอำนาจเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน และสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมแก่คนจนและคนเปราะบาง


🌏✨

ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่รัฐบาลกล่าวถึงในตอนต้นจะกลายเป็นรุนแรงขึ้นเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่การแข่งขันทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นการเอาความผาสุกของสังคมและยั่งยืนนิเวศมาเป็นตัวตั้ง โดยให้ความเป็นธรรมเป็นหลักสำคัญ รัฐบาลควรหันกลับไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งรวมถึงประชาชน สันติภาพ การมีส่วนร่วม ความผาสุกรุ่งเรือง และความสมดุลยั่งยืนนิเวศ ด้วยการสร้างธรรมาภิบาลและนิติรัฐ/นิติธรรมของประชาธิปไตย ที่เน้นคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชนเป็นที่ตั้ง และสร้างความเป็นธรรมให้ปรากฏ และจำกัดอำนาจรัฐและทุนไม่ให้ละเมิดสิทธิประชาชน ในทางที่ดีและยั่งยืนในระยะยาวของอนาคต


สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ 👉 https://www.banmuang.co.th/news/politic/344204


#WeAreManushyan #เศรษฐาทวีสิน #ประชุมสภา #ClimateAccountabilityandClimateJustice #สิ่งแวดล้อม #ทรัพยากรธรรมชาติ #WhatHappeninginThailand



bottom of page