top of page
  • Writer's pictureManushya Foundation

#เลือกตั้ง66: เตรียมพร้อมก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งปี 66 ในฐานะประชาชนเราเตรียมตัวอย่างไรได้บ้างมาดูกัน!



#เลือกตั้ง66📍เตรียมพร้อมก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งปี 66 ในฐานะประชาชนเราเตรียมตัวอย่างไรได้บ้าง มาดูกัน!


🔎เป็นเวลาเกือบ 4 ปีนับจากเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ได้ผ่านมานานอย่างไม่น่าเชื่อ จนอาจทำให้หลาย ๆ คนลืมไปแล้วว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้มีการดำเนินการเป็นไปอย่างไร และในการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะดำเนินมาถึงในเวลาอันใกล้ ในฐานะประชาชนเราควรมีการเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจในเรื่องอะไรบ้างก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะถึงนี้


🗓คาดการณ์วันเลือกตั้ง: ความเคลื่อนไหวที่ทำให้หลาย ๆ พรรคการเมืองรวมถึงประชาชนผู้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดมีท่าทีตื่นตัวขึ้นคงหนีไปพ้นข่าวเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกกต. หรือคณะกรรมการเลือกตั้งได้หารือถึงวิธีการสำหรับแนวทางปฏิบัติการหาเสียงเลือกตั้งในระยะช่วง 180 วันก่อนครบกำหนดวาระสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งจะครบกำหนดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ใกล้จะดำเนินมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หากวิเคราะห์กันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ได้ระบุในเรื่องการเลือกตั้งไว้ว่า “เมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง จะต้องมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ” หรือถ้าพูดแบบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะต้องจัดขึ้นภายใน 45 วันนับจากวันที่ครบวาระของสภา นั่นหมายความว่าพวกเราจะได้เลือกตั้งกันภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566!


⚠️แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสำหรับกรณีที่คาดการณ์ข้างต้นคือเป็นกรณี “ครบวาระสภาผู้แทนราษฎร” และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากำหนดการจะช้าไปกว่าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ไม่ได้เนื่องจากขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หากเกิดกรณีการ “ยุบสภาฯ” เกิดขึ้น วันเลือกตั้งของพวกเราจะก็มีการเปลี่ยนแปลงออกไปจากวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เพราะว่าอำนาจในการออกคำสั่งยุบสภาฯเป็นอำนาจที่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นภายหลังการยุบสภาฯ จะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯออกมาก่อน และขั้นตอนถัดไปกกต. ก็จะดำเนินการกำหนดวันเลือกตั้งไว้ในประกาศราชกิจจานุเบกษาภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันที่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯและจะต้องกำหนดระยะเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ประกาศใช้


💡ดังนั้นถ้าพูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือเราอาจได้เลือกตั้งเร็วขึ้น หรือ ช้าลง ก็ขึ้นอยู่กับว่าสภาผู้แทนราษฎรคณะปัจจุบันจะดำเนินการสิ้นสุดลงไปด้วยวิธีใดนั่นเอง


➡️ซึ่งหากแผนการเลือกตั้งดำเนินการโดยนับจากวันที่สภาผู้แทนฯสิ้นสุดลงโดยวิธีการ “ครบวาระ” ในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ก็อาจพอคาดการณ์กำหนดการเลือกตั้งต่าง ๆ ได้ ดังนั้นพอจะมีกำหนดการหรือข้อมูลเบื้องต้นอะไรที่ประชาชนอย่างพวกเราควรรู้ไว้บ้าง? มานุษยะได้รวบรวมมาให้แล้ว มาดูกัน!




💡เมื่อเข้าคูหา ทุกคนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยบัตรใบแรกจะเป็นเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตเพียง 1 คนเพื่อเป็นผู้แทนเขตที่อยู่ของตน และบัตรใบที่สอง จะเป็นการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ชอบให้เป็นตัวแทนเข้านั่งในสภา 1 พรรคเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อในปี 2562 ที่ผ่านมา ที่จำนวนบัตรเลือกตั้งถูกลดลงให้เหลือเพียงใบเดียวเท่านั้น!


✏️โดยในการลงคะแนนเลือกตั้งบนบัตร จะต้องเป็นการเขียนครื่องหมายกากบาทลงในช่องของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่เราเลือกเท่านั้น หากพบเครื่องหมายอื่น ทางคณะกรรมการจะถือว่าบัตรเลือกตั้งของเราเป็นบัตรเสียโดยทันทีและอีกข้อควรระวังคือหมายเลขเบอร์ผู้สมัครส.ส. กับเบอร์ของพรรคการเมือง อาจเป็นคนละเบอร์กัน! ดังนั้นจำหมายเลขของผู้เข้าสมัครและพรรคการเมืองไว้ให้ดี นอกจากศึกษานโยบายของพรรคการเมืองที่ชอบโดยละเอียดแล้วการจดจำหมายเลขก็สำคัญไม่แพ้กัน!


✊🏻ดังนั้นการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมไว้ย่อมดีกว่าไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย! มูลนิธิมานุษยะในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ประชาชนตื่นตัวและร่วมติดตามข่าวสารการเลือกตั้งที่กำลังจะเดินทางมาถึงอย่างใกล้ชิด เพราะระยะเวลาร่วม 4 ปีนับตั้งแต่เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 62 สำหรับหลาย ๆ คนอาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานอะไร แต่สำหรับอีกหลาย ๆ คน ช่วงระยะเวลา 4 ปีนั้นนานเกิดพอที่จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอันสำคัญของหลาย ๆ คนได้ ดังนั้นเราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนไม่นอนหลับทับสิทธิของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงล้วนสำเร็จได้ด้วยการส่งเสียงออกไปและความร่วมมือลงมือทำของประชาชน


#เลือกตั้ง #ประชุมสภา #เลือกตั้ง2566 #8ปีประยุทธ์

bottom of page