top of page

แถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนร่วม:
ประเทศไทย: ยกเลิกคำสั่งใหม่ที่มุ่งควบคุมการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์

5 มกราคม 2566

5 มกราคม 2566,

 

พวกเรา มูลนิธิมานุษยะ, ALTSEAN-Burma, Cambodian Center for Human Rights, ELSAM, Foundation for Media Alternatives, Free Expression Myanmar, ILGA Asia, SAFEnet, The 88 Project และ Women’s Peace Network ในนามของ ASEAN Regional Coalition to #StopDigitalDictatorship (พันธมิตรภูมิภาคอาเซียนเพื่อหยุดเผด็จการทางดิจิทัล) ขอสนับสนุนจุดยืนสนับสนุนพลเมืองชาวเน็ต ภาคประชาสังคม และผู้ให้บริการในประเทศไทย และเรียกร้องให้ยกเลิก ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565[1] นับจากนี้เรียก “ประกาศกระทรวงฯ” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 เราขอประณามระบอบเผด็จการทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคุกคามต่อเสรีภาพทางออนไลน์ และส่งผลให้พลเมืองชาวเน็ตหลายล้านคนไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้มีอำนาจ และไม่สามารถเปิดโปงความจริงเกี่ยวกับ #WhatsHappeningInThailand[2]

ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ถือเป็นความเสี่ยงร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจาก

  1. กำหนดให้ผู้ให้บริการ (สื่อกลาง, แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์) ต้องปฏิบัติหน้าที่ในเวลาอันจำกัดอย่างยิ่งตั้งแต่เพียง 24 ชั่วโมงถึงไม่กี่วัน ในการนำเนื้อหาออกจากระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อได้รับคำสั่งจากสาธารณะและผู้ใช้งาน โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมพื้นที่ออนไลน์ให้แคบลง 

  2. ต้องดำเนินงานตามข้อบทที่มีการนิยามแบบคลุมเครือ ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และแทบไม่เปิดโอกาสให้มีการควบคุมกำกับอย่างเป็นอิสระ หรือการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเอาผิดทางอาญาจนเกินกว่าเหตุต่อผู้ให้บริการ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์อย่างไม่ได้สัดส่วน 

  3. อ้างอิงเนื้อหาตามมาตรา 14 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกรอบที่ระบุถึงประเภทของเนื้อหา ที่จะต้องถูกนำออกจากระบบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากเป็นข้อบทที่กำหนดความผิดอย่างคลุมเครือและเกินกว่าเหตุ  

  4. กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามข้อร้องเรียนบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับมา โดยไม่คำนึงถึงหลักการว่าด้วยความจำเป็นหรือได้สัดส่วน

[TH] Joint Solidarity Statement - Thailand Scrap New Decree Aimed to Control Online Discou
T_0057-01.png

เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก และข้อมูล ตามข้อ 19 ของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และตามข้อ 19 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งข้อตกลงทั้งสองฉบับคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกของบุคคล รวมทั้งสิทธิในการแสวงหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูล รวมทั้งข้อมูลออนไลน์ เรายังกระตุ้นรัฐบาลให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับ หลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

เราขอประณามรัฐบาลที่ล้มเหลวในหลายด้าน ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[3] และใช้อำนาจตามระเบียบ คำสั่ง และกฎหมายจำกัดสิทธิที่ไม่เป็นประชาธิปไตย[4] ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ประมวลกฎหมายอาญาของไทย[5] ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับทางการในการควบคุมการแสดงความเห็นทางออนไลน์และการเข้าถึงข้อมูลทางออนไลน์ 

ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้เป็นอันตรายร้ายแรง และสะท้อนถึงความพยายามล่าสุดของประเทศไทยที่จะเพิ่มการเซ็นเซอร์ทางออนไลน์ โดยการควบคุมผู้ให้บริการ เมื่อปี 2560 ทางการได้ออกประกาศกระทรวงอีกฉบับหนึ่งที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน เพื่อกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนให้นำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ที่เป็นการขอความร่วมมือจากทั้งผู้ใช้งานแพลตฟอร์มและทางการไทย (นับจากนี้เรียก “ประกาศกระทรวง พ.ศ. 2560”)[6] หลังมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่นี้ จะถูกนำมาใช้แทนประกาศกระทรวง พ.ศ. 2560 โดยประกาศกระทรวงฯ ใหม่นี้กำหนดว่าเนื้อหาใดที่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มหรือสาธารณะเห็นว่า ละเมิดต่อมาตรา 14 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ[7] จะต้องถูกนำออกจากระบบโดยผู้ให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง หลังได้รับข้อร้องเรียน สำหรับการแจ้งเตือนให้นำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ดีอีเอส ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาที่จะต้องนำข้อมูลออกจากระบบแตกต่างกันไปเล็กน้อย กล่าวคือ เนื้อหาที่ถือว่าละเมิดต่อมาตรา 14(1) ว่าด้วยข้อมูลเท็จอันน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย “แก่ประชาชนและสาธารณะ” ต้องถูกนำออกจากระบบภายในเจ็ดวัน ส่วนเนื้อหาที่เป็นความผิดตามมาตรา 14(2) และ (3) เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดต่อราชอาณาจักร จะต้องถูกนำออกจากระบบภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้น ประกาศกระทรวงฯ ยังขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ดีอีเอส ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งต่อผู้ให้บริการ โดยไม่ต้องขอคำสั่งจากศาล หรือไม่ต้องรอการตรวจสอบจากศาล 

ที่ผ่านมา มาตรา 14 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มักถูกใช้เพื่อจำกัดการแสดงออกทางออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรง และกำหนดฐานความผิดที่นิยามอย่างคลุมเครือหลายประการ เนื้อหาที่ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงข้อมูลที่สร้างความเสียหายต่อสาธารณะ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความมั่นคงของสาธารณะ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือมีลักษณะลามก

มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
“ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

 

พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นประเด็นอื้อฉาว เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างทางออนไลน์[8] โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 154 คนตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ใน 174 คดี นับแต่เริ่มมีการประท้วงทางการเมืองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนตุลาคม 2565[9]

ประกาศกระทรวงฯ ไม่กำหนดช่องทางที่เจ้าของเนื้อหาหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักสามารถโต้แย้งต่อข้อร้องเรียนได้ เมื่อผู้ใช้หรือประชาชนทั่วไปแจ้งเตือนให้นำข้อมูลออกจากระบบ กรณีที่เป็นคำสั่งให้นำข้อมูลออกจากระบบโดยเจ้าหน้าที่ดีอีเอส เจ้าของเนื้อหาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจโต้แย้งคำวินิจฉัยได้ โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงดิจิทัล หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย ในกรณีเช่นนั้น จะเป็นการพิจารณาคำอุทธรณ์โดยกระทรวงเดียวกันที่มีการออกคำสั่งในเบื้องต้น ปิดกั้นโอกาสที่จะมีการควบคุมกำกับอย่างเป็นอิสระ ข้อกังวลอีกประการหนึ่งตามประกาศกระทรวงนี้ได้แก่ ไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้เจ้าของเนื้อหาทราบ เมื่อมีการแจ้งเตือนให้นำข้อมูลออกจากระบบ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของใคร 


ผู้ให้บริการถูกกดดันให้ต้องปฏิบัติตามก่อน จากนั้นจึงประเมินสถานการณ์ ซึ่งย่อมความเสี่ยงของการเซ็นเซอร์ทางออนไลน์ การกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามข้อร้องเรียนใด ๆ ที่ได้รับ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ไม่ว่ามีความจำเป็นหรือได้สัดส่วนอย่างไร เท่ากับว่ารัฐบาลไทยปล่อยให้ผู้ให้บริการตกอยู่ใต้แรงกดดันมหาศาลที่จะต้องนำข้อมูลออกจากระบบ ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ให้บริการเร่งรีบนำข้อมูลออกจากระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกลงโทษ และย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและข้อมูลของประชาชน 

 

ผู้ให้บริการจะถูกเอาผิดทางอาญา หากเชื่อว่ามีการไม่ปฏิบัติตาม กรณีที่ผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอให้นำข้อมูลออกจากระบบ ให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการให้ความร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 15 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งย่อมส่งผลให้ถูกดำเนินคดี และอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การเอาผิดทางอาญากับผู้ให้บริการทันที หลังเชื่อว่ามีการไม่ปฏิบัติตาม หมายถึงว่าผู้ให้บริการที่ถูกดำเนินคดี จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง การผลักภาระพิสูจน์ให้กับผู้ให้บริการที่ถูกกล่าวหา ทำให้เกิดปัญหาอย่างยิ่ง และไม่สอดคล้องกับหลักการตามกฎหมายที่ถือว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา จะต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ความผิด ในขณะที่ในกรณีทั่วไป ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาของตน  

เราขอชื่นชมและยืนหยัดเคียงข้างกับประชาชนทุกคนที่กล้าพูดความจริงกับผู้มีอำนาจ ต่อต้านระบอบเผด็จการ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทย เรากระตุ้นรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะต้องประกันให้มีการเข้าถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับและเผยแพร่ข้อมูลและความคิด โดยต้องดำเนินการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิดังกล่าว รวมทั้งงดเว้นจากการกดดันผู้ให้บริการให้สนับสนุนการเซ็นเซอร์โดยผ่านระเบียบคำสั่งแบบพลการเช่นนี้ ประกาศกระทรวงฯ ล่าสุดฉบับนี้ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมืออีกประการหนึ่ง เพื่อทำให้ทางการสามารถควบคุมและปิดปากผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อนถึงระบอบเผด็จการทางดิจิทัลในประเทศไทย

จากข้อกังวลดังกล่าว ASEAN Regional Coalition to #StopDigitalDictatorship ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้:

  • ยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ และงดเว้นจากการควบคุมเสรีภาพด้านการแสดงออกและข้อมูล โดยการบังคับผู้ให้บริการให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐในการเซ็นเซอร์เนื้อหาออนไลน์ 

  • ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่จำกัดเสรีภาพด้านการแสดงออก และสื่ออิสระ รวมทั้งกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา, กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ และกฎหมายยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยปรับปรุงให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

  • ประกันว่ากฎหมายและนโยบายที่ให้นำข้อมูลออกจากระบบ จะบังคับใช้กับเนื้อหาที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลเท่านั้น โดยสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและไม่คลุมเครือ และสอดคล้องอย่างเต็มที่กับกระบวนการอันควรตามกฎหมาย ตามที่ระบุไว้ในหลักการมะนิลาว่าด้วยความรับผิดของสื่อตัวกลาง 

  • ยุติการดำเนินงานใด ๆ เพื่อกดดันหรือเอาผิดทางอาญากับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต บริษัทเทคโนโลยี และบริษัทโทรคมนาคม เพื่อให้นำเนื้อหาออนไลน์ออกจากระบบ ในขณะที่ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก และสิทธิด้านข้อมูลและความเป็นส่วนตัว

  • ดำเนินการอย่างเข้มแข็งเพื่อประกันว่า นโยบายและกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ใด ๆ สนับสนุนให้บริษัทเทคโนโลยี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และบริษัทโทรคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของตน สอดคล้องกับหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) และ

  • ยุติการดำเนินคดีใด ๆ ต่อบุคคลที่ถูกสอบสวน ถูกแจ้งข้อหา หรือถูกสั่งฟ้องโดยรัฐ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

สอดคล้องกับหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องต่อต้านการใช้ประกาศกระทรวงฯ นี้ และงดเว้นจากการนำเนื้อหาออนไลน์ออกจากระบบ หรือการควบคุมใด ๆ ซึ่งขัดแย้งกับสิทธิด้านการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรี

ประการสุดท้าย เราเรียกร้องหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรนอกภาครัฐ ให้ร่วมมือกับเรา ในการรณรงค์เพื่อคุ้มครองประชาธิปไตยทางออนไลน์ และให้แสดงจุดยืนอย่างเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนให้มีการยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้โดยทันที และให้มีการตรวจสอบรัฐบาลไทยหากมีการใช้อำนาจอย่างมิชอบในการกำกับดูแลพื้นที่ออนไลน์

––––––––––––

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในการเข้าร่วมโครงการรณรงค์ระดับภูมิภาคเพื่อ #StopDigitalDictatorship in Southeast Asia, และการสนับสนุนงานของเราเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยด้านดิจิทัลในภูมิภาค โปรดดูการรณรงค์ออนไลน์ของเราที่: https://www.manushyafoundation.org/stop-digital-dictatorship-campaign

–––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––

ข้อมูลการติดต่อสำหรับสื่อมวลชน:

  • Emilie Pradichit ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ มูลนิธิมานุษยะ: emilie@manushyafoundation.org

  • Debbie Stothard ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงาน ALTSEAN-Burma: debbie.stot@gmail.com

  • Damar Juniarto ผู้อำนวยการ Southeast Asia Freedom of Expression Network (SAFEnet): damar@safenet.or.id

  • Wahyudi Djafar ผู้อำนวยการ Institute for Policy Research and Advocacy (ELSAM): wahyudi@elsam.or.id

  • Wai Wai Nu ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Women’s Peace Network: waiwainu@womenspeacenetwork.org

  • Chak Sopheap ผู้อำนวยการ CCHR Cambodia: chaksopheap@cchrcambodia.org

  • Henry Koh ผู้อำนวยการ ILGA Asia: henry@ilgaasia.org

  • Yin Yadanar ผู้อำนวยการ Free Expression Myanmar: yin@freeexpressionmyanmar.org

  • Ben Swanton ผู้อำนวยการร่วม The 88 Project: ben@the88project.org

  • Lisa Garcia ผู้อำนวยการ Foundation for Media Alternatives: lgarcia@fma.ph

อ้างอิง

[1] ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/254/T_0057.PDF.

[2] แฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand หมายถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม และผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้นำมาใช้ เพื่อเผยแพร่ให้โลกทราบถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการโจมตีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ

[3] ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ให้สัตยาบันรับรองโดยประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539); คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, รายงานคณะทำงานกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระรอบสาม (UPR), (21 ธันวาคม 2564), จาก: https://documents-ddsny.un.org/doc/UNDOC/GEN/G21/383/31/PDF/G2138331.pdf?OpenElement (ประเทศไทยยอมรับข้อเสนอแนะ 8 ข้อว่าด้วยเสรีภาพด้านการแสดงออก); ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน; หลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน; คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, การส่งเสริม คุ้มครอง และการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนในระบบอินเทอร์เน็ต, UN Doc. A/HRC/38/L.10/Rev.1, (4 กรกฎาคม 2561), จาก: https://www.osce.org/fom/78309?download=true (“สิทธิแบบเดียวกันที่ประชาชนได้รับในโลกออฟไลน์ ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับสิทธิทางออนไลน์ โดยเฉพาะเสรีภาพด้านการแสดงออก ซึ่งมีผลบังคับใช้โดยไม่มีพรมแดน และไม่ว่าเป็นการส่งข้อมูลผ่านสื่อใด ๆ ที่ตนเลือก”)

[4] โปรดดู เช่น มูลนิธิมานุษยะ, Thailand’s Third UPR Cycle Factsheet: Digital Rights, (9 กันยายน 2564), จาก: https://www.manushyafoundation.org/thailand-third-upr-cycle-factsheet-digital-rights; มูลนิธิมานุษยะ, Thailand’s Third Universal Periodic Review Cycle: Everything You Need to Know about #WhatsHappeningInThailand, (15 ตุลาคม 2564), จาก: https://www.manushyafoundation.org/thailandthird-upr-cycle-factsheets; มูลนิธิมานุษยะ, Joint Statement - Thailand: Stop Weaponizing 'COVID-19' to Censor Information “Causing Fear” and Crack Down on Media and Internet Service Providers, (4 สิงหาคม 2564), จาก: https://www.manushyafoundation.org/joint-statement-stop-weaponizing-covid19-to-censor-information; มูลนิธิมานุษยะ, Joint Solidarity Statement - Thailand: Stop Digital Dictatorship Over Online Freedom #StopDigitalDictatorship #WhatsHappeningInThailand, (25 ตุลาคม 2563), จาก: https://www.manushyafoundation.org/statement-th-onlinefreedom-protests

[5] มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีต่อบุคคลที่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”; มาตรา 116 หรือกฎหมายยุยงปลุกปั่น หมายถึงการกระทำที่มุ่งยุยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ “โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย” “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จาก: https://library.siam-legal.com/thai-criminal-code/

[6] ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560, จาก: https://ictlawcenter.etda.or.th/files/law/file/89/7ac3fba2f9864b7e52bf3c784ad153b2.pdf; และโปรดดู Freedom House, Freedom on the Net Thailand 2022: Thailand, (2022), จาก: https://freedomhouse.org/country/thailand/freedom-net/2022

[7] พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560: http://web.krisdika.go.th/data/document/ext809/809777_0001.pdf

[8] Engage Media, Thailand Computer Crime Act: Restricting Digital Rights, Silencing Online Critics, (8 มิถุนายน 2565), จาก https://engagemedia.org/projects/thailand-freedom-expression/; มูลนิธิมานุษยะ, Digital Rights in Thailand: Thailand's Third Universal Periodic Review Cycle, (9 กันยายน 2564), จาก: https://www.manushyafoundation.org/thailand-third-upr-cycle-factsheet-digital-rights; Freedom House, Freedom on the Net 2022: Thailand, (2565), จาก: https://freedomhouse.org/country/thailand/freedom-net/2022

[9] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), ตุลาคม 65: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,864 คน ใน 1,145 คดี (3 พฤศจิกายน 2022), จาก: https://tlhr2014.com/archives/50215

bottom of page