top of page
  • Writer's pictureManushya Foundation

#LetsGetRights การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในไทย: ตามรอย ‘เก็ท’ แสวงหาซึ่งความยุติธรรม!



เกิดอะไรขึ้นกับเก็ท นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ? 🤔🔍


ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แสนยาวนาน ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมและสมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำซึ่งถูกควบคุมตัวมานานกว่า 80 วัน โดยเก็ทถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตในระหว่างการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากคำปราศรัยระหว่างการชุมนุมมีข้อความเปรียบเทียบว่า ต่อให้รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทำบุญ พระบารีมีก็ไม่สูงขึ้น และมีการปราศรัยถึงตำรวจในกิจกรรมโดยมีใจความว่า ตำรวจที่ให้ความสำคัญกับกษัตริย์มากกว่าประชาชน ถือเป็นปฏิปักษ์ของประชาชน โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวส่งผลให้มีโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว 


นอกเหนือจากความซับซ้อนทางกฎหมายของคดี #ทัวร์มูล่าผัว เก็ทได้เข้ารับการสืบพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรม #ฝืนฝอยหาตะเข็บ #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ณ วงเวียนใหญ่ โดยระหว่างการพิจารณาคดีเก็ทได้ถอดเสื้อออกเพื่อประท้วงแสดงสัญลักษณ์ถึงความไม่เหมาะสมและความไม่ชอบธรรมในการคุมขังตัวเขาและเพื่อนนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวภายใต้ความผิดมาตรา 112 



การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของครอบครัว ‘เก็ท’ ⚖️✊


ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ครอบครัวของเก็ทพร้อมกลุ่มนักเคลื่อนไหว และประชาชนทั่วไป ได้มีการดำเนินการยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล จากกรณี #ทัวร์มูล่าผัว  ซึ่งมีการขัดแย้งกับข้อกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 มีบทลงโทษตามมาตรา 9 โดยระบุโทษปรับไม่เกิน 200 บาท  แต่เก็ทถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ซึ่งถือเป็นการลงโทษเกินกฎหมายกำหนด


สาระสำคัญของประเด็นดังกล่าว คือ ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคำตัดสินของศาลและบทบัญญัติทางกฎหมายทำให้เกิดคำถามและข้อกังวลเกี่ยวกับบทลงโทษที่เกินความจำเป็น โดยเพื่อเป็นการเรียกร้องความยุติธรรม ครอบครัวของเก็ทได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกาและนายกรัฐมนตรี‘เศรษฐา ทวีสิน’ โดยจดหมายได้ส่งมอบผ่านตัวแทนของทั้งสองหน่วยงาน 


#LetsGetRights: ‘เก็ท’ ยังคงยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม  ⚖️✊


อย่างไรก็ตาม เก็ทยังคงแน่วแน่ในจุดยืนของตนเองอย่างกล้าหาญ เห็นได้ชัดจากการสืบพยานวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยเก็ทได้แสดงถึงจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจนและได้แถลงต่อหน้าศาลว่า “ดังนั้น ผมจึงขอ ‘ปฏิเสธอำนาจศาล’ ผมไม่ได้พูดถึงท่านเพียงคนเดียว แต่ผมพูดถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จนกว่าศาลจะคืนสิทธิประกันตัวและยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องขัง 112 ทุกคน ขอบคุณครับ”

  

การยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยของเก็ทยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความท้าทายและความอยุติธรรมของระบบ โดยยังคงเรียกร้องให้ศาลอนุมัติการยื่นคำร้องขอประกันตัวนักโทษทางการเมืองทุกคน รวมทั้งการยกเลิกมาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และแม้จะเผชิญกับบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม  เก็ทยังคงยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อให้ความยุติธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้น ซึ่งในการพิจารณาคดีที่ผ่านๆ มา เก็ทยืนยันที่จะปฏิเสธที่จะตอบคำถามหรือยอมรับอำนาจของศาล เพื่อแสดงถึงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด


🎉 สุขสันต์วันเกิด ‘เก็ท’ ขอให้ความปรารถนาของเก็ทเพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพเป็นจริง! 🌟🎂


วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันเกิดครบรอบ 25 ปีของเก็ท แม้ว่าเก็ทจะไม่สามารถเป่าเทียนหรือจัดงานฉลองวันเกิดกับครอบครัวหรือคนที่เก็ทรักได้ แต่พวกเราขอส่งกำลังใจ และขอให้ความปรารถนาของเก็ทสมหวัง


จากเพื่อนๆ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เก็ทเป็นคนที่เป็นห่วงผู้อื่นเสมอ อ่อนโยน เป็นคนช่างวางแผน ในเส้นทางต่อสู้ของเก็ทไม่เคยยอมแพ้ หมดความหวัง ยังยืนหยัด หนักแน่น ยึดมั่นในอุดมการณ์ ถึงแม้เก็ทจะอยู่ข้างในเรือนจำ แต่ยังคงสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจผู้อื่นเสมอ เนื่องในวันพิเศษนี้ พวกเราชาวมานุษยะ ขอร่วมกับกลุ่กโมกหลวงริมน้ำ และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ สนับสนุนการอวยพรวันเกิดของเก็ทให้การปล่อยตัวเก็ท นักกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด และการยกเลิกคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112


🔍การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทยในภาพรวม ⚖️


เรื่องราวดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของกฎหมายในกรณีของเก็ทเท่านั้น แต่รวมถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและปัญหาสิทธิมนุษยชนของการกิจกรรมทางการเมืองในภาพรวมที่เก็ทและนักกิจกรรมทางการเมืองอีกมากมายกำลังเผชิญ โดยรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแสดงให้เห็นว่า  ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 สถิติประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมียอดรวมทั้งหมด 1,930 คน ในจำนวน 1,253 คดี 


แม้จะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยในฐานะหนึ่งใน 48 ผู้สนับสนุนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ. 2491 จะต้องยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ชีวิต เสรีภาพ ความมั่นคง และสิทธิในการชุมนุมและการสมาคมอย่างสันติ นอกจากนี้ การให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ถือเป็นการยืนยันสิทธิในการชุมนุมโดยสันติการคุ้มครองทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน และเสรีภาพในการแสดงออกสำหรับบุคคล


ดังนั้น ในฐานะที่เรียกตนเองว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและมาตรฐานพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นักกิจกรรมทางการเมืองมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวและควรสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตย


บทความข้างต้นไม่เพียงเน้นถึงความซับซ้อนทางกฎหมายในคดีของเก็ทเท่านั้น แต่ยังเป็นการเน้นให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในขอบเขตของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่เก็ท แต่รวมถึงนักกิจกรรมประชาธิปไตยคนอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบเดียวกัน ทั้งการถูกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการลงโทษผู้ที่เห็นต่าง รวมถึงการตัดสินลงโทษและการจำคุกที่เกินความจำเป็น 


#WeAreManushyan ∞ Equal Human Beings


✊ มานุษยะยืนหยัดเคียงข้างเก็ท สมาชิกผู้กล้าหาญของเครือข่าย #YouthPowerDemocracy ของเรา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทุกคนที่ต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก 

✊ เราขอประณามการใช้มาตรา 112 ในทางที่ผิด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 19 ของ UDHR และ ICCPR นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งได้รับข้อเสอนแนะจากเวที UPR รอบที่ 3 ของประเทศไทย

✊ เราขอเน้นย้ำว่าอำนาจเป็นของประชาชน!



อ้างอิง: 





🔥 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานด้านเสรีภาพและสิทธิดิจิทัลจากพวกเรา 🌐✨⤵️

bottom of page